ทำความรู้จัก เทโลเมียร์ กับ อายุร่างกาย

ความชราภาพของร่างกายจัดเป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ความชราภาพเกิดขึ้นสอดคล้องกับช่วงอายุที่เพิ่มขึ้น แต่ด้วยวิถีการดำเนินชีวิตของมนุษย์ในปัจจุบันที่ต้องเผชิญกับมลภาวะจากสิ่งแวดล้อมภายนอกร่างกายที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งความร้อน รังสี UVA รังสี UVB รังสี Blue-Light ฝุ่น ควัน มลภาวะทางอากาศ และ PM 2.5 ร่วมด้วยปัจจัยภายในที่ได้รับการกระตุ้นหรือมีความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากสภาวะโรคหรือจิตใจที่ถูกรบกวนจากความเครียด ความกดดัน หรือการแข่งขันที่เพิ่มสูงมากขึ้น ทำให้ความชราภาพไม่ได้เกิดขึ้นอย่างสอดคล้องกับช่วงอายุที่เพิ่มมากขึ้นเท่านั้น แต่ความชราภาพจะเกิดขึ้นได้ก่อนวัยอันควร และหนึ่งในตัวแปรที่จะสามารถบ่งบอกทั้งความชราภาพและการชะลอวัยได้อย่างชัดเจนคือ เทโลเมียร์ นั่นเอง

เทโลเมียร์กับตัวแปรวัดอายุของร่างกายที่แท้จริง

มีคนสงสัยว่า เทโลเมียร์คืออะไร เป็นองค์ประกอบของอวัยวะใด และสามารถใช้บ่งบอกถึงอายุที่แท้จริงของร่างกายได้อย่างไร  เทโลเมียร์คือส่วนปลายสุดของโครโมโซมทำหน้าที่ปกป้องโครโมโซมที่อัดแน่นด้วยรหัสพันธุกรรมไม่ให้ถูกทำลายง่ายๆ  มนุษย์จะมีเทโลเมียร์ยาวที่สุดเมื่ออยู่ในวัยแรกเกิด โดยมีความยาวประมาณ 15,000 Base Pairs และเมื่อเติบโตขึ้นเทโลเมียร์จะค่อยๆ หดสั้นลงตามการแบ่งตัวของเซลล์ของอวัยวะทุกส่วนในร่างกาย จนสุดท้ายเมื่ออยู่ในวัยชราเทโลเมียร์จะหดสั้นลงจนเหลือประมาณ 4,000 Base Pairs ซึ่งจัดเป็นช่วงวัยที่มีเทโลเมียร์สั้นที่สุด ส่งผลให้เซลล์ต่าง ๆ ในร่างกายมีความสามารถในการสร้างขึ้นทดแทนเพื่อซ่อมแซมอวัยวะที่เสื่อมสภาพหรือสึกหรอได้อย่างจำกัด ด้วยวิทยาการทางวิทมยาศาสตร์ในปัจจุบัน เราสามารถวัดอายุทางชีวภาพของร่างกายได้ (Biological Age) จากการวัดความยาวของเทโลเมียร์นั่นเอง

ความยาวของเทโลเมียร์บ่งชี้ถึงอะไรได้บ้าง

1. ความยาวของเทโลเมียร์บ่งชี้อายุที่แท้จริงของร่างกาย  ซึ่งจะแตกต่างจากอายุที่นับตามปีเกิด ในส่วนนี้เป็นสิ่งที่สามารถอธิบายด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ได้ว่า ทำไมเพื่อนที่ในรุ่นราวคราวเดียวกัน มีอายุเท่ากัน แต่คนที่มีความยาวเทโลเมียร์มากกว่าจะมีสุขภาพที่ดีกว่าและมีผิวพรรณที่แลดูอ่อนเยาว์กว่า

2. ความยาวของเทโลเมียร์ยังสามารถนำไปสู่การคาดคะเนความเสื่อมหรือสภาวะของโรคที่อาจเกิดขึ้นกับร่างกายในอนาคตได้ ไม่ว่าจะเป็นโรคเบาหวาน โรคมะเร็ง โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ หรือ แม้แต่ภาวะสมองเสื่อมก็ตาม และสามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไปวางแผนการป้องกัน การดูแลรักษา รวมไปถึงการฟื้นฟูร่างกายจากโรคที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้อีกด้วย

ปัจจัยที่ส่งผลให้เทโลเมียร์สั้นเร็วกว่าปกติตามธรรมชาติ

ตามที่กล่าวไปข้างต้นแล้วว่าเทโลเมียร์นั้นสั้นลงจากการแบ่งตัวตามธรรมชาติของเซลล์เพื่อการเจริญเติบโต และซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกาย แต่ด้วยปัจจัยอื่น ๆ ทั้งจากภายในร่างกายของคนเราและปัจจัยภายนอกที่เป็นตัวทำให้เทโลเมียร์ในร่างกายของคนเราสั้นเร็วกว่าปกติตามธรรมชาติซึ่งมีปัจจัย ดังนี้

1. พฤติกรรมการสูบบุหรี่ไม่ว่าจะเป็นบุหรี่มวน หรือ บุหรี่ไฟฟ้า

2. การดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ 

3. การดำเนินชีวิตด้วยความเครียด ความกดดันและการแข่งขันที่เพิ่มสูงมากขึ้นในยุคปัจจุบัน เป็นตัวเร่งระดับฮอร์โมนความเครียดภายในร่างกายของคนเรา รวมไปถึงสร้างความเครียดให้กับอวัยวะต่าง ๆ ภายในร่างกายส่งผลให้เซลล์ต่างๆ ทรุดโทรมและเสื่อม นำไปสู่การเร่งแบ่งตัวของเซลล์เพื่อจะช่วยฟื้นฟูสภาพร่างกายให้กลับมาอยู่ในสภาวะสมดุลตามปกติ กระบวนการเหล่านี้ส่งผลให้เทโลเมียร์สั้นลงเร็วขึ้น

4. การนอนหลับพักผ่อนที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย หรือ การอดนอนติดต่อกันเป็นเวลานาน 

5. การเคลื่อนไหวที่น้อยเกินไปในแต่ละวัน ส่วนนี้ก็คือกิจวัตรการทำงานของมนุษย์ออฟฟิศ ที่ต้องนั่งทำงานหน้าเครื่องคอมพิวเตอร์ติดต่อกันเป็นเวลานาน หรือ เกือบทั้งวัน เป็นการจำกัดการเคลื่อนไหวของร่างกายไปโดยปริยาย

6. การรับประทานอาหารที่มีน้ำตาลมากเกินไป

7. การเป็นโรคเรื้อรังที่ไม่ติดต่อ (NCDs) เช่น  โรคอ้วน  โรคความดันโลหิตสูง  โรคเบาหวาน

8. การสัมผัสกับมลพิษ

9. การติดเชื้อ

จะเห็นได้ว่าเทโลเมียร์ที่สั้นลงเร็วกว่าปกติตามธรรมชาติที่ควรจะเป็นนั้น ส่วนหนึ่งเกิดจากพฤติกรรมในการดำเนินชีวิตที่ทำร้ายสุขภาพ มาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมกันเถอะ เพื่อลดอัตราการหดสั้นของเทโลเมียร์ลงเพื่อเพิ่มระดับคุณภาพชีวิตให้ดีและยืนยาวขึ้น

Facebook
Twitter
LinkedIn
Pinterest
Scroll to Top